หากใครที่รู้จัก หรือได้ดูภาพยนตร์เรื่อง 'Joker' แล้ว ก็คงจะจดจำเสียงหัวเราะสุดขมขื่นปนเขย่าขวัญ จากการถ่ายทอดการแสดงแสนทรงพลังของ 'วาคีน ฟีนิกซ์' ผู้รับบทเป็นโจ๊กเกอร์คนใหม่ได้เป็นอย่างดี โดยในเนื้อหาของภาพยนตร์เรื่อง Joker (2019) มีการพูดถึง 'ภาวะควบคุมการหัวเราะไม่ได้' อันเป็นที่มาของเสียงหัวเราะสุดประหลาดทว่าน่าเวทนาจับใจของตัวละครในตำนานตัวนี้ และวันนี้ Jelly ก็ได้นำเอาข้อมูลของโรคที่มีอยู่จริงนี้มาให้เพื่อน ๆ ได้รู้จักกัน อยากรู้แล้วใช่ไหมว่ามันคือโรคอะไร? และเกิดจากสาเหตุอะไร? งั้นไปดูกันได้เลยจ้า!

 

๋Joker

Joker cr. www.facebook.com/jokermovie/

 

'วาคีน ฟีนิกซ์' กับการใส่ที่มาของเสียงหัวเราะที่มีอยู่จริง!


  • นอกจากการลดน้ำหนักกว่า 23 กิโลกรัมเพื่อมารับบท 'Joker' แล้ว การศึกษาและทำความเข้าใจอาการของผู้ป่วย 'ภาวะควบคุมการหัวเราะ-ร้องไห้ไม่ได้' ก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งการบ้านสุดหิน ที่ วาคีน ฟีนิกซ์ ทุ่มเทและใส่รายละเอียดอาการของผู้ป่วยจริง ๆ จากโรคนี้เข้าไปในเนื้องาน เพราะมันคือแรงบันดาลใจหลักในการสร้างคาแรคเตอร์ Joker ขึ้นมาใหม่ โดยเขาเคยให้สัมภาษณ์กับสื่ออิตาลีอย่าง II Venerdi เอาไว้ว่า...

 

"ผมได้ดู VDO ของผู้คนที่ทุกข์ทรมาณจากภาวะการแสดงออกของอารมณ์ที่มากเกินไป เกิดจากความผิดปกติทางประสาทที่มันทำให้เกิดเสียงหัวเราะที่เป็นเอกลักษณ์ และไม่สามารถควบคุมได้"

และเป็นเพราะอาการหัวเราะของโรคนี้ ไม่ใช่การหัวเราะด้วยอารมณ์ที่รู้สึกมีความสุข แต่มันคืออาการผิดปกติจากการทำงานของระบบประสาท ฉะนั้นการถ่ายทอดอาการทั้งหมดออกมาผ่านคาแรคเตอร์ของ Joker ราชาแห่งอาชญากร จึงเป็นบททดสอบความสามารถของนักแสดงอย่างแท้จริง ซึ่งแน่นอนว่า วาคีน ฟินิกซ์ สร้างโจ๊กเกอร์คนใหม่ออกมาได้สมบูรณ์แบบเหลือเกิน

 

๋Joker

Joker cr. www.facebook.com/jokermovie/

 

'Pseudobulbar Affect' โรคต้นแบบของเสียงหัวเราะแสนทรมานของ 'Joker' 


Pseudobulbar affect (PBA) หรือ 'ภาวะควบคุมการหัวเราะไม่ได้' ทางการแพทย์เชื่อว่าเกิดจากการที่สมองส่วนหน้ามีปัญหาหรือได้รับความเสียหาย ซึ่งสามารถพบได้ในโรคต่าง ๆ ตามนี้

  • โรคหลอดเลือดสมอง
  • โรคความจำเสื่อมและพาร์กินสัน
  • เนื้องอกในสมองบางชนิด
  • โรคปลอกประสาทเสื่อม

เช่นเดียวกับตัวละคร Joker ผู้ที่ป่วยเป็นโรคเหล่านี้นั้นมักจะมีอาการร้องไห้หรือหัวเราะอย่างรุนแรงแบบคุมควบไม่ได้ และการหัวเราะหรือร้องไห้นั้นจะไม่สัมพันธ์กับอารมณ์และไม่เข้ากับสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น ทำให้ผู้ที่ไม่เข้าใจผู้ป่วยเหล่านี้ อาจมองว่าพวกเขาแปลกแยก ประหลาด หรือเข้ากับผู้อื่นไม่ได้ ซ้ำร้ายอาการเหล่านี้ส่วนมากจะออกอาการอย่างยาวนาน และอาจเป็นได้หลายครั้งต่อวัน จนผู้ป่วยบางคนถึงกับต้องพกนามบัตรหรือข้อความบางอย่าง สำหรับไว้อธิบายและป้องกันการเข้าใจผิด หากอาการเหล่านั้นเกิดในสถานการณ์ที่ไม่เหมาะสม 

และเสียงหัวเราะที่มาจากใจอันแสนเศร้านั้น จึงเป็นความยากลำบากในการใช้ชีวิตของผู้ป่วยจากโรคนี้ เหมือนที่เราได้เห็นจาก อาเธอร์ เฟล็ค หรือ โจ๊กเกอร์ นั่นเอง

 

๋Joker

Joker cr. www.facebook.com/THAIDMH/

 

ตัวอย่างผู้ป่วยที่มีอาการ

Joker cr. https://www.youtube.com/

 

วิธีและหนทางการรักษา 'ภาวะควบคุมการหัวเราะไม่ได้' ในปัจจุบัน


  • พบแพทย์และอธิบายอาการ เพื่อแยกระหว่างอาการ PBA และ โรคทางอารมณ์อื่น ๆ เช่น โรคซึมเศร้า ไบโพล่าร์
  • ทำไดอารี่บันทึกช่วงที่มีอาการอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการเช็คอาการ และเก็บข้อมูลของโรคที่เป็นอยู่
  • รักษาด้วยวิธีการใช้ยา

ซึ่งทั้งหมดนั้นจะเกิดขึ้นภายใต้การควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิดจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น

 

๋Joker

Joker cr. www.facebook.com/jokermovie/

เอาเป็นว่าเราคงได้เห็นที่มาของเสียงหัวเราะสุดบ้าคลั่งและขื่นขมของโจ๊กเกอร์กันไปแล้ว ก็คงต้องชื่นชมผู้กำกับวิสัยทัศน์คมอย่าง 'ท็อดด์ ฟิลลิปส์' และผู้รับบทโจ๊กเกอร์คนใหม่ 'วาคีน ฟีนิกซ์' ที่สามารถถ่ายทอดเหตุผลที่จะทำให้เราเข้าใจและเห็นใจตัวละครอย่าง อาเธอร์ เฟล็ค หรือ โจ๊กเกอร์ ได้มากขึ้น เพราะถ้าหากเลือกได้ก็คงไม่มีใครอยากจะเผชิญกับโรคที่แสนจะทรมานตัวเองเช่นนี้ ฉะนั้นความเข้าใจซึ่งกันและกันเท่านั้น ที่จะช่วยเยียวยาและบรรเทาความทุกข์ของผู้ป่วยจากอาการเหล่านี้ได้ เพราะสุดท้ายคงไม่มีใครอยากกลายเป็นโจ๊กเกอร์ในชีวิตจริงเช่นกัน